top of page

ปี 2567 ตลาดอาหารฮาลาลไทยเติบโตต่ำผู้ประกอบการขาดความรู้ความสามารถด้านมาตรฐานฮาลาลในการแข่งขัน

  • รูปภาพนักเขียน: ชัชวาล อรวัฒนะกุล
    ชัชวาล อรวัฒนะกุล
  • 21 มิ.ย. 2567
  • ยาว 1 นาที

บทความโดย ดร.ฟุอัด กันซัน รองนายกสมาคมฝ่ายพัฒนาสินค้ามาตรฐานฮาลาลเพื่อการค้าและการส่งออก



ตลาดอาหารฮาลาล (Halal Food) เป็นตลาดอาหารสำหรับผู้นับถือศาสนาอิสลาม (Muslim) ที่ผู้ผลิตให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่ง สามารถขยับจากการเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) ไปเป็นตลาดหลัก (Mass Market) อย่างสมบูรณ์แบบเพียงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ปัจจุบันตลาดสินค้าฮาลาลโลกยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องมีผู้บริโภคเป้าหมายจำนวนมากและหลากหลายกลุ่ม โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรมุสลิมโลก และกระแสบริโภคอาหารปลอดภัย(Clean food) ซึ่งเป็นกระแสที่มาแรงในช่วงที่มีการระบาดของ COVID-19 คาดการณ์ว่าในปี 2570 ตลาดอาหารฮาลาลโลกจะมีมูลค่า 2,000 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (Salaam Gateway) คิดเป็น สัดส่วนราวร้อยละ 17 ของเงินค่าใช้จ่ายด้านอาหารและเครื่องดื่มทั่วโลก



ในจำนวนนี้เป็นมูลค่านำเข้าอาหารของประเทศหรือรัฐสมาชิกองค์การความร่วมมืออิสลาม (Organization of Islamic Conference : OIC) จำนวน 57 ประเทศมีมูลค่า 210 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 15 ของมูลค่าตลาด แต่เมื่อวิเคราะห์ตลาดอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลของผู้ประกอบการไทยในเวทีโลก ยังนับว่าเป็นกลุ่มสินค้าส่งออกที่มีศักยภาพในการแข่งขันสูง เพียงแต่ผู้ประกอบการไทยยังไม่สามารถปลดล็อกด้านการสร้างความเชื่อมั่นในผู้บริโภคชาวมุสลิมให้ได้มากขึ้น เพราะฉะนั้นการลงทุนและเน้นแข่งขันด้านคุณภาพและมาตรฐานการผลิตสินค้าฮาลาลคือส่วนสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความสำคัญกับการขยายการตลาดไปในกลุ่มประเทศมุสลิม การเจรจาการค้าระหว่างประเทศ





อาหารและเครื่องดื่มฮาลาลของไทย จัดว่าเป็นกลุ่มสินค้าส่งออกที่มีศักยภาพ สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลที่ขยายตัวเฉลี่ยกว่า 7.5% ต่อปีในช่วงปี 4 ปีที่ผ่านมา (CAGR ปี 2563-2566) ซึ่งสูงกว่าภาพรวมการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มทั้งหมดของไทยไปตลาดโลกส่งผลให้ปี 2565 ไทยติดอันดับ 8 ผู้ส่งออกอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลของโลก ซึ่งมีคู่ค้าสำคัญคือ จีน ตลาดมุสลิมหรือ OIC (Organization of Islamic Conference) สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ตามลำดับ แต่สำหรับในปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รายงานว่า การส่งออกอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลของไทยอาจหดตัว 0.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน

  • อาหารฮาลาลธรรมชาติ เป็นสินค้าหลักคิดเป็นสัดส่วน 65% ของมูลค่าการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลทั้งหมด ซึ่งปีนี้คาดว่าจะทรงตัว 

  • อาหารฮาลาลโดยการรับรอง คิดเป็นสัดส่วน 35% ของมูลค่าการส่งออกอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลทั้งหมด ซึ่งปีนี้คาดว่าจะหดตัว 2.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน หากไทยต้องการจะก้าวสู่ ASEAN Halal Hub ให้ได้ภายในปี 2571 ตามเป้าหมาย โจทย์สำคัญที่ทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการไทยจะต้องเร่งดำเนินการ คงจะได้แก่

  • การที่ผู้ประกอบการไทยต้องมีมาตรฐานฮาลาลที่เป็นที่ยอมรับตามหลักสากล  เพราะเป็นด่านแรกที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคชาวมุสลิม ปัจจุบันสินค้าไทยได้รับเครื่องหมายรับรองจากประเทศมุสลิมสำคัญ ทั้งอินโดนีเซียและมาเลเซีย

  • ผู้ประกอบการต้องขยายการทำตลาดเพิ่ม โดยเฉพาะไปยังประเทศสมาชิกใน OIC ที่มีความต้องการนำเข้าสินค้าฮาลาลสูง อาทิ กลุ่มตะวันออกกลางและกลุ่มประเทศในทวีปแอฟริกาใต้ จากจำนวนประชากรที่มากและความมั่นคงทางอาหารต่ำ  ผ่านการเจรจาการค้าระหว่างประเทศในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น การฟื้นฟูความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบีย ที่ทำให้ไทยสามารถส่งออกไก่สดแช่เย็นแช่แข็งไปได้มากขึ้น การทำข้อตกลงระหว่างรัฐต่อรัฐ (G2G) ในการส่งออกข้าวไทยไปยังอินโดนีเซีย หรือแม้กระทั่งการเปิดเสรีข้อตกลงการค้าทวิภาคีและพหุภาคี ซึ่งทางการกำลังอยู่ระหว่างผลักดันเพิ่มเติม ได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ CEPA (ไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) FTA (ไทย-ปากีสถาน) เป็นต้น การผลักดันการเจรจาการค้าระหว่างประเทศให้ครอบคลุมตลาดฮาลาล จะช่วยสร้างแต้มต่อให้กับสินค้าส่งออกอาหารและเครื่องดื่มฮาลาลไปได้เพิ่มขึ้น


สมาคมการค้านักธุรกิจไทยมุสลิม (TMTA) เราขอให้คำมั่นสัญญา “ก้าวไปด้วยกัน ก้าวไปได้ไกล”

สมาคมการค้านักธุรกิจไทยมุสลิม (TMTA) มีนักวิชาการที่มีความรู้ความสามารถทางด้านธุรกิจอาหารฮาลาล และยังมีนักธุรกิจที่มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจในตลาดสินค้าฮาลาลมาอย่างยาวนาน เราพร้อมที่จะเคียงข้างผู้ประกอบการทุกรายเพื่อความสำเร็จที่ยั่งยืน  สมาคมการค้านักธุรกิจไทยมุสลิม (TMTA) เราขอให้คำมั่นสัญญา “ก้าวไปด้วยกัน ก้าวไปได้ไกล”

Commenti


bottom of page