โรงแรมมาตรฐานฮาลาล กลยุทธ์สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันของผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม
- ชัชวาล อรวัฒนะกุล
- 15 ก.ค. 2567
- ยาว 1 นาที
บทความโดย ดร.ฟุอัด กันซัน
นักวิชาการฝ่ายพัฒนาและส่งเสริมผลิตภัณฑ์มาตรฐานฮาลาลเพื่อการค้าและการส่งออก
สมาคมการค้านักธุรกิจไทยมุสลิม TMTA

การท่องเที่ยวคืออุตสาหกรรมที่สร้างรายได้หลักที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย ข้อมูลจากกองเศรษฐกิจการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ปี 2566 นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยสะสมตลอดปี 2566 (1 ม.ค. - 24 ธ.ค.2566) รวมกว่า 27 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวจากมาเลเซียเดินทางเข้าไทยมากที่สุดถึง 4,439,480 คน รองลงมาได้แก่ จีน 3,418,732 คน, เกาหลีใต้ 1,616,858 คน, อินเดีย 1,587,090 คน และรัสเซีย 1,428,985 คน และกลุ่มประเทศอาหรับ ตามลำดับ สร้างรายได้รวม 3.5 ล้านล้านบาท
ปัจจุบันทั่วโลกให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวฮาลาล (Halal Tourism) ซึ่งมีส่วนสำคัญมากที่สุดที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่มียอดการใช้จ่ายต่อทริปมากที่สุดในโลก การสนับสนุนให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทยมีความรู้ความเข้าใจจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด อีกทั้งกาสนับสนุนกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อชาวมุสลิม(Muslim Friendly) ก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวมุสลิม เชื่อมต่อการเดินทาง และสนับสนุนร้านอาหารและธุรกิจการบริการที่ฮาลาล เป้าหมายเพื่อประเทศไทยจะเป็นประเทศอันดับหนึ่ง จุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวชาวมุสลิมฝันหาและเพื่อเป้าหมายรายได้ในส่วนเฉพาะจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2.5 ล้านล้านบาท ในปี 2567 ตามเป้าหมายของรัฐบาล
What is Halal Tourism Concept?
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวฮาลาล (Halal Tourism)หรือกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อชาวมุสลิม(Muslim Friendly) คือการมุ่งเน้นไปที่กระบวนการ“การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานเพื่อการท่องเที่ยวเชิงฮาลาล”โดยการปรับเปลี่ยนตามความต้องการและความคาดหวังของนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมในทุกมิติด้านการท่องเที่ยว โดยคำนึงถึงกิจกรรม ผลิตภัณฑ์และบริการการที่ไม่ขัดต่อหลักการศาสนาอิสลาม การท่องเที่ยววิถีฮาลาลเป็นวิธีการเฉพาะในการสื่อสารกับตลาดเฉพาะกลุ่มที่มีแรงจูงใจในการใช้จ่ายตามเงื่อนไขของหลักการศาสนา ซึ่งเป็นกลยุทธ์สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน (Business Competitiveness) การพัฒนาการท่องเที่ยววิถีฮาลาลจึงเป็นโอกาสในการแข่งขันของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย สำหรับนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมแล้ว หลักการศาสนาอิสลามเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดรายจ่ายด้านการท่องเที่ยว และส่งผลต่อการเลือกจุดหมายปลายทางพร้อมกับตัวเลือกที่พักและการต้อนรับทั้งหมด นอกจากนี้ ตามรายงานของ MasterCard-Crescent Rating Global Muslim Travel Index (GMTI.2015) ชาวมุสลิมกำลังกลายเป็นผู้บริโภคที่สำคัญซึ่งมีกำลังซื้อด้านการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะสูงถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ต่อปีหรือประมาณ 6.4 ล้านล้านบาท เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจโรงแรมไทยควรให้ความสำคัญกับตลาดการท่องเที่ยวฮาลาลให้มากยิ่งขึ้น

What is Halal Hotel?
โรงแรมฮาลาล คือการขอรับรองมาตรฐานฮาลาลจากองค์กรที่รับผิดชอบ ซึ่งโรงแรมที่ผ่านมาตรฐานคือโรงแรมที่มีการบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกตามข้อกำหนดมาตรฐานฮาลาล ครัว มินิบาร์ คาเฟ่ สระว่ายน้ำ สปา รวมถึงบุคลากร พนักงาน เจ้าหน้าที่ของโรงแรมทุกคนตั้งแต่ผู้บริหารระดับต่ำถึงระดับสูง ได้รับการอบรมและมีความรู้ความเข้าใจในมาตรฐานฮาลาล สามารถให้คำอธิบายเพิ่มเติมตามคำขอของผู้เข้าพัก มีการจัดเตรียมตารางเวลาละหมาด สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เสื่อละหมาด อื่นๆ โรงแรมฮาลาลไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับอาหารและเครื่องดื่มเท่านั้น แต่ยังควรกำหนดผลิตภัณฑ์ อุปกรณ์ บริการ และกิจกรรมต่างๆ ของโรงแรมอย่างชัดเจน แม้ว่าโรงแรมมาตรฐานฮาลาลกำลังได้รับความนิยมจากชาวมุสลิมทั่วโลกซึ่งประเทศมาเลเซียถือเป็นประเทศผู้นำที่มีผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมขอรับรองมาตรฐานโรงแรมฮาลาลมากที่สุด และเป็นประเทศต้นแบบที่มีมาตรฐานฮาลาลในด้านต่างๆประกาศใช้มากที่สุด สมาคมเจ้าของโรงแรมแห่งมาเลเซีย (MAHO) สมาคมโรงแรมแห่งมาเลเซีย (MAH) และสมาคมโรงแรมราคาประหยัดแห่งมาเลเซีย (MBHA) ได้พยายามอย่างเต็มที่ในการสนับสนุนให้สมาชิกโรงแรมสมัครขอรับรองมาตรฐานโรงแรมฮาลาลเพื่อจะได้รับการอุปถัมภ์ทางธุรกิจที่กว้างขวางมากขึ้นจากแขกชาวมุสลิมทั้งในและต่างประเทศ อย่างไรก็ตามสำหรับในประเทศไทยจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการประกาศข้อกำหนดหรือหลักเกณฑ์หรือมาตรฐานโรงแรมฮาลาล จากองค์กรที่รับผิดชอบด้านการรับรองมาตรฐานฮาลาล เพื่อให้เจ้าของโรงแรมสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดที่สอดคล้องกับหลักการศาสนาอิสลาม (Shariah compliance) ได้อย่างถูกต้อง

General practice For Halal Hotel
สมาคมการนักนักธุรกิจไทยมุสลิมพยายามรวบรวมหลักเกณฑ์ปฏิบัติต่างๆสำหรับมาตรฐานโรงแรมฮาลาล ในบทความทางวิชาการต่างๆเพื่อเป็นพื้นฐานการปฏิบัติที่ถูกต้องในการขอรับรองมาตรฐานโรงแรมฮาลาลในประเทศไทย อันได้แก่
ห้องพักของโรงแรม จะต้องมีสัญลักษณ์ทิศละหมาด จัดเตรียมเสื่อละหมาด และเสิร์ฟอาหารหรือเครื่องดื่มที่ฮาลาลในห้องพัก
เครื่องใช้ส่วนตัวต่างๆที่โรงแรมมีไว้ให้บริการเช่น สบู่ แชมพูสระผม ยาสีฟัน หรืออื่นๆ ต้องได้รับการรับรองฮาลาล
ครัวของโรงแรมจะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานฮาลาล ซึ่งจะหมายรวมถึง ซัพพลายเออร์หรือผู้รับเหมาช่วงที่จะต้องได้รับการรับรองฮาลาลเพื่อจัดหาผลิตภัณฑ์เหล่านี้ รายการวัตถุดิบจะต้องตรงกับที่ระบุไว้ในคู่มือปฏิบัติ(Halal Manual)
การตกแต่ง ประติมากรรม รูปภาพ จะต้องไม่ขัดกับหลักการศาสนาอิสลาม
พนักงานต้อนรับ เจ้าหน้าที่ทุกระดับ จะต้องได้รับการอบรมและมีความรู้ในหลักการฮาลาล
จะต้องไม่มีการบริการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในส่วนใดๆของโรงแรม
แนวทางปฏิบัติในกรณีที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ เช่น สระว่ายน้ำ สปา หรือกิจกรรมให้บริการอื่นๆ จะต้องแยกส่วนการบริการระหว่างชายหญิง และมีกฎระเบียบที่พิเศษโดยคำนึงถึงหลักการศาสนาอิสลามเป็นสำคัญ
จะต้องมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงหรือผู้จัดการหรือเจ้าหน้าที่ระดับสั่งการที่เป็นชาวมุสลิมกำกับดูแล

ซึ่งในหลายประเทศไม่ได้มุ่งที่จะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม ขอรับรองมาตรฐานโรงแรมฮาลาล แต่มุ่งสนับสนุนให้ผู้ประกอบการคำนึงถึงนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม โดยอำนวยความสะดวกในบางกิจกรรมตามแคมเปน "โรงแรมที่เป็นมิตรกับชาวมุสลิม" (Muslim Friendly Hotel) ซึ่งโรงแรมเหล่านี้ไม่สามารถจัดหามีสิ่งอำนวยความสะดวกตามหลักเกณฑ์ข้อกำหนดมาตรฐานโรงแรมฮาลาลได้ จัดได้เพียงส่วนสำคัญๆบางส่วน เช่น การแยกครัวฮาลาล หรือการเสริฟอาหารเช้าฮาลาล และสิ่งอำนวยความสะดวกในห้องพัก เพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม
Commentaires